ประวัติ ของ มีเดีย ออฟ มีเดียส์

บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด (เดิม บริษัท มีเดีย เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด) เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2527 ด้วยทุนจดทะเบียน 200,000 บาท โดยมี ยุวดี บุญครอง เป็นประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวแทนรับขายเวลาโฆษณาในรายการต่าง ๆ ทางโทรทัศน์เรื่อยมา จนในปี พ.ศ. 2532 บริษัทฯ เริ่มซื้อเวลาจากทางสถานีเข้าดำเนินการผลิตรายการและขายโฆษณาเอง โดยเริ่มจากการนำภาพยนตร์ต่างประเทศที่มีคุณภาพเข้ามาออกอากาศในรายการ แผ่นฟิล์มวันศุกร์ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา บริษัทฯ จึงก้าวเข้าสู่เป็นผู้ผลิตรายการอย่างเต็มรูปแบบด้วยการผลิตรายการโทรทัศน์เอง โดยเริ่มจากรายการเด็ดยอดกีฬามันส์ และรายการเจาะโลกมหัศจรรย์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 บริษัทฯ ได้กลายเป็นผู้บุกเบิกรายการภาคเช้า จากการผลิตรายการ บ้านเลขที่ 5 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ซึ่งประสบความสำเร็จจนกลายเป็นต้นแบบของรายการภาคเช้า และได้รับความนิยมจากผู้ชมเป็นอย่างสูงอีกด้วย

บริษัทฯ มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นระยะ ๆ เพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอนุมัติให้จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 เป็นต้นไป จึงแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ภายใต้ชื่อ "บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด (มหาชน)" พร้อมทุนจดทะเบียน 260 ล้านบาท โดยประกอบธุรกิจจำหน่ายเวลาโฆษณาและผลิตรายการโทรทัศน์ ซึ่งในช่วงนั้นรายการโทรทัศน์ที่ผลิตโดยบริษัทฯ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ชมทุกเพศทุกวัย ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของบริษัทฯ คือช่วงปี พ.ศ. 2535 – พ.ศ. 2540 โดยเป็นบริษัทที่มีเวลาออกอากาศทางสถานีฟรีทีวีมากที่สุดต่อสัปดาห์ในช่วงนั้น

ต่อมา เมื่อมีการเข้าร่วมทุนของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด เปิดโอกาสให้บริษัทมีเวลาเช่าออกอากาศจากสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 มากขึ้น ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้ของบริษัทฯ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ซึ่งบริษัทฯ ไม่มีความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องและความสามารถในการดำรงอยู่ของบริษัทอีกต่อไป แต่บริษัทฯ ยังมีความเสี่ยงในเรื่องการต่อสัญญาเช่า โดยครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา รายการของบริษัทฯ 3 รายการ ไม่ได้รับการต่อสัญญาเช่าเวลาจากสถานีโทรทัศน์ ทำให้มีผลกระทบต่อรายได้โฆษณาของบริษัทฯ เป็นอย่างสูง ดังนั้นในปี พ.ศ. 2548 ทางบริษัทฯ จึงได้ขยายธุรกิจสื่อให้ครอบคลุมสื่อวีซีดี, สื่อสิ่งพิมพ์ และสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เพื่อขยายฐานรายได้[1]

ในปี พ.ศ. 2549 ทางบริษัทฯ ได้ปรับโครงสร้างการบริหารงาน โดยกลุ่มผู้บริหารระดับสูงชุดใหม่ นำโดย ชาลอต โทณวณิก ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ธงชัย ชั้นเสวิกุล ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เข้ามาบริหารเพื่อกำหนดกลยุทธ์และสร้างผลประกอบการที่ดียิ่งขึ้น โดยพยายามลดต้นทุนการผลิตทุกด้าน รวมทั้งเน้นการผลิตรายการโทรทัศน์ให้กับสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เป็นหลัก[4] จนทำให้บางรายการของบริษัทฯ ที่กำลังออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ๆ ในขณะนั้น ต้องถูกดูแลโดยบริษัทที่ยุวดีได้ตั้งขึ้นมาใหม่ นั่นคือ บริษัท เอเชีย เทเลวิชัน แอนด์ มีเดีย จำกัด

ทั้งนี้ ในปลายปี พ.ศ. 2552 ทางบริษัทฯ ได้โอนขายทรัพย์สินในการดำเนินธุรกิจสื่อทั้งหมดให้แก่ บริษัท มีเดีย สตูดิโอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มีวัตถุประสงค์ที่จะดำเนินการด้านธุรกิจสตูดิโอ โดยได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยมี โยธิน บุญดีเจริญ เข้ามารับช่วงกิจการต่อ ส่วนมีเดีย สตูดิโอ มีชาลอตเป็นประธานบริษัท เพื่อผลิตรายการโทรทัศน์และสื่อต่าง ๆ จากบริษัทเดิมต่อไป โดยมีสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมของตนเองภายใต้ชื่อ ที แชนแนล, มีเดีย แชนแนล, ยู แคมปัส แชนแนล และ มีเดีย บูม อีกด้วย[5] แต่ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 ทางบริษัทฯ ได้ยกเลิกสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที แชนแนล เนื่องจากผลประกอบการที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และเปลี่ยนมาดำเนินการในรูปแบบการรับจ้างผลิตรายการช่องสถานีลูกทุ่งให้กับทรูวิชั่นส์ โดยยังคงรูปแบบรายการเหมือนสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเดิม ส่งผลให้ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553 ชาลอตได้ลาออกจากตำแหน่งประธานของมีเดีย สตูดิโอ และเปลี่ยนชื่อบริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ เป็น บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจเป็นทางอสังหาริมทรัพย์แทน โดยได้โอนสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจในด้านผลิตรายการโทรทัศน์ทั้งหมดจากบริษัทฯ ให้กับบริษัทย่อย คือ มีเดีย สตูดิโอ และยังคงดำเนินธุรกิจด้านสื่อและการผลิตรายการโทรทัศน์มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน[3]

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้